top of page

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเทคนิคใหม่ ฟื้นตัวไว บาดเจ็บน้อย

          เมื่อข้อสะโพกเสื่อมเป็นมากขึ้นจากสาเหตุใดๆก็ตาม ทำให้มีอาการปวด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การกินยาหรือฉีดยาเข้าข้อสะโพกเป็นการรักษาที่ช่วยลดหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ไขที่ต้นเหตุหรือความเสื่อมที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะกลับมามีอาการปวดอีกครั้งหนึ่งหลังจากหมดฤทธิ์ยาที่กินหรือฉีดเข้าไป การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมหรือข้อสะโพกขาดเลือด ที่อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากลองรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดแล้ว หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง

          การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้น ปัจจุบันมี 3 เทคนิคใหญ่ๆ แบ่งตามทางที่แพทย์ผ่าตัดเข้าไปเพื่อเปลี่ยนข้อสะโพก ได้แก่ ทางด้านหลัง ทางด้านข้างและทางด้านหน้า การผ่าตัดข้อสะโพกทางด้านหน้าจะใช้การดึง-ถ่างช่องระหว่างกล้ามเนื้อเทนเซอร์กับกล้ามเนื้อเรกตัส ฟีมอริส ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อเหมือนการผ่าตัดข้อสะโพกทางด้านอื่นๆ

          เทคนิคที่หมอศริษฏ์ใช้จะพัฒนามากจากการผ่าตัดเข้าทางด้านหน้า โดยระมัดระวังการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อสะโพก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว แผลผ่าตัดเล็ก และสามารถทำการผ่าตัดแบบซ่อนแผลผ่าตัดได้ ท่าการผ่าตัดผู้ป่วยจะนอนหงายเหมือนปกติ ทำให้สามารถประเมินความยาวขาได้แม่นยำกว่า และสามารถผ่าตัดสะโพกทั้งสองข้างได้ในคราวเดียวกัน มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ระหว่างการผ่าตัดเพื่อประเมินความถูกต้องของตำแหน่งการใส่อุปกรณ์ข้อเทียม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

          นอกจากนั้นแล้ว หลังผ่าตัดหมอศริษฏ์จะมีการระงับปวดด้วยวิธีฉีดยาชาที่บริเวณช่องเส้นประสาท (ฟาสเชีย อิลิก้า) ช่วยให้อาการปวดหลังผ่าตัดน้อยลงมาก ผู้ป่วยสามารถลุกยืนได้ไว ฟื้นตัวไวขึ้น

ข้อดี

  • บาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวไวกว่า เนื่องจากการผ่าตัดแบบนี้ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อเพื่อเข้าไปยังข้อสะโพก หรือหากจำเป็นบางกรณีก็จะมีการตัดกล้ามเนื้อน้อยกว่าแบบอื่น

  • สามารถประเมินความยาวขาสองข้างได้ดีกว่า ส่งผลให้ขากลับมายาวเท่ากันได้ดีกว่า

  • อัตราการเกิดข้อสะโพกเทียมหลุดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า

  • สามารถทำการผ่าตัดแบบซ่อนแผล ตามแนวกางเกงใน (บิกินี่) ได้ ช่วยให้แผลมีความสวยงามมากกว่า

 

ข้อสังเกต

  • อาจมีอาการชาบริเวณต้นขาด้านหน้าหลังการผ่าตัด ซึ่งอาการชาจะค่อยๆดีขึ้นตามเวลา และไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวข้อสะโพก

  • ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะที่ออกแบบมาเพื่อการผ่าตัดข้อสะโพกทางด้านหน้า

  • ต้องการประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมากกว่า

หมอศริษฏ์

11/08/2562

bottom of page